ฏีกาการค้าระหว่างประเทศ
1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 176/2551
ตัวแทนที่จะต้องรับผิดตามสัญญาแต่ลำพังจะต้องเป็นตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าร่วมขนถ่ายสินค้าและทำให้สินค้าเสียหาย ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว
ผู้ขนส่งได้รับสินค้าไว้จากผู้ส่ง ณ ต้นทางในสภาพเรียบร้อยแต่ความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือที่ขนส่งสินค้าจึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นตัวแทนจำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 5 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยที่ 6 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
เหตุที่จะไม่นำข้อจำกัดความรับผิดมาใช้ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 ต้องเป็นเรื่องที่ผู้ขนส่งมีความบกพร่องอย่างร้ายแรง ซึ่งไม่รวมถึงการประมาทเลินเล่อธรรมดา เมื่อเหตุที่สินค้าเสียหายมิได้เกิดจากการที่จำเลยที่ 5 ที่ 6 หรือตัวแทนกระทำหรืองดเว้นกระทำการโดยเจตนาที่จะให้เกิดการเสียหาย หรือโดยละเลย หรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ซึ่งจะตกอยู่ในบังคับมาตรา 60 (1) จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงได้รับประโยชน์โดยผลของกฎหมายในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58
2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5831/2550
แม้ในใบตราส่งช่องลายมือชื่อของผู้ขนส่งที่มุมขวาด้านล่างจะใช้คำว่า VIRGO LINE by LEO TRANSPORT CORPORATION LTD. AS AGENT FOR THE CARRIER ซึ่งแปลได้ความว่าโจทก์ในฐานะตัวแทนเพื่อ VIRGO LINE ผู้ขนส่ง แต่ใบตราส่งนี้เป็นเพียงหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล ไม่ใช่ตัวสัญญารับขนของทางทะเล และสัญญารับขนของทางทะเลไม่มีแบบ โจทก์จึงสามารถนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารนี้ได้ว่าโจทก์รับขนของทางทะเลโดยใช้ชื่อในการประกอบกิจการว่า VIRGO LINE อันเป็นชื่อทางการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และโจทก์ใช้เป็นชื่อในการออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่ง ดังนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทางทะเลมีสิทธิเรียกค่าระวางและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขนส่งจากจำเลยที่ 1 และที่ 2
ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบธุรกิจค้าขายตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยร่วมขายสินค้าและติดต่อว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้ขนส่งกับชำระค่าจ้างขนส่งและค่าดำเนินการต่างๆ ทั้งเป็นผู้ชำระค่าระวางและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขนส่งโดยชำระด้วยเช็คส่งมอบให้โจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คทั้ง 6 ฉบับ จึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นและยังต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ส่งร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าทางทะเลดังที่โจทก์นำสืบด้วย
3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4206/2549
บทบัญญัติมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่ว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเลถ้าไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้ส่งมอบของให้เป็นอันขาดอายุความ นั้นเป็นเรื่องที่ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่ผู้ส่งของหรือผู้รับตราส่งฟ้องให้ผู้ขนส่งรับผิดในค่าเสียหายเพื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งของที่รับขนตามสัญญารับขนของทางทะเลเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ส่งของว่าจ้างจำเลยดำเนินการจัดส่งสินค้าของโจทก์ไปให้ลูกค้าของโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่ต่างประเทศ โดยโจทก์ฟ้องอ้างเหตุว่าจำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์ ให้จำเลยรับผิดเพราะจัดส่งเอกสารการขนส่งสินค้าไปให้ลูกค้าของโจทก์ที่ปลายทางตามข้อตกลงล่าช้า ทำให้ลูกค้าของโจทก์ไม่ยอมรับสินค้า เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หาได้ฟ้องอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งทางทะเล และให้จำเลยรับผิดเพราะเหตุการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าแห่งสินค้าที่รับขนเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้ขนส่งทางทะเลตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ ฉะนั้น จึงจะนำบทบัญญัติเรื่องอายุความตามมาตรา 46 ดังกล่าวมาใช้บังคับมิได้ เมื่อพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้ ก็ต้องนำบทบัญญัติเรื่องความรับผิดของตัวแทนต่อตัวการเพราะไม่ทำการเป็นตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 และบทบัญญัติเรื่องอายุความตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับ แต่เมื่อ ป.พ.พ. บรรพ 1 ลักษณะ 6 หมวด 2 ว่าด้วยอายุความมิได้มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะ ก็ต้องถือว่ากรณีนี้มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2549
แม้ข้อตกลงในใบตราส่งจะระบุให้นำข้อพิพาทที่เกิดขึ้นฟ้องต่อศาลเมืองฮ่องกง แต่ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 และมาตรา 7 (5) ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศให้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่สินค้าได้เสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับประเทศสเปนอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครในฐานะตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศให้ร่วมรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 มูลคดีจึงเกิดจากสัญญารับขนของทางทะเลที่ทำในราชอาณาจักรไทย กฎหมายที่ใช้บังคับคือกฎหมายไทย พยานหลักฐานต่าง ๆ ก็อยู่ในเขตอำนาจศาลไทยเป็นส่วนใหญ่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจย่อมพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้ด้วย หาจำต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลเมืองฮ่องกงแต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นไม่
กรณีพิพาทเป็นการขนส่งทางทะเลอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งคือบริษัท อ. เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญารับขนของทางทะเลดังกล่าวจึงต้องเป็น พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
5.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3882/2549
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่สินค้าได้เสียหายและสูญหายไปในระหว่างการขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลระหว่างประเทศไทยไปยังประเทศสเปนอันเป็นการขนส่งระหว่างประเทศ และให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครในฐานะตัวแทนผู้ทำสัญญารับขนดังกล่าวแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศร่วมรับผิด โดยผลของ ป.พ.พ. มาตรา 824 จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศ โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการขนส่งระหว่างประเทศตามมาตรา 5 และมาตรา 7 (5) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ แม้ใบตราส่งจะระบุว่าต้องใช้กฎหมายของเมืองฮ่องกง แต่กรณีพิพาทเป็นการขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักร และปรากฏว่าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ส่งของเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยกฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญารับขนของทางทะเลจึงต้องเป็น พ.ร.บ.การรับขนของทางทะลฯ ตามมาตรา 4
6.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2890/2549
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้ามีหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายที่จะต้องส่งสินค้าให้แก่บริษัท ค. ผู้ซื้อที่เมืองดีทรอยท์ประเทศสหรัฐอเมริกา และโจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขนส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ แต่จำเลยทั้งสองไม่นำสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อตามสัญญา กลับยึดหน่วงสินค้าไว้แล้วนำไปขายเสีย ดังนี้ โจทก์ในฐานะผู้ส่งของซึ่งเป็นคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ขนส่งย่อมมีสิทธิฟ้องร้องให้ผู้ขนส่งรับผิดต่อโจทก์ได้ตามสัญญารับขนของทางทะเล เมื่อโจทก์จัดส่งสินค้าพิพาทลงเรือแล้ว โจทก์ได้นำใบตราส่งไปส่งมอบให้ธนาคารเพื่อขอรับเงินค่าสินค้าที่ผู้สั่งซื้อเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตไว้กับทางธนาคารดังกล่าว แต่เมื่อผู้รับตราส่งไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งซื้อจึงอายัดเงินค่าสินค้า โจทก์จึงยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้าจากธนาคาร และธนาคารได้คืนใบตราส่งให้แก่โจทก์ โจทก์ยังเป็นผู้ครอบครองต้นฉบับใบตราส่งสินค้าพิพาทดังกล่าวทั้งเมื่อบริษัท ค. ผู้ซื้อสินค้าพิพาทจากโจทก์ไม่ได้รับสินค้า บริษัทดังกล่าวก็ไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระให้โจทก์ และไม่มีส่วนได้เสียในสินค้าเพราะไม่ใช่เจ้าของ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายและผู้ส่งย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
7.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2549
โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าทุเรียน โดยทั้งสองฝ่ายคาดว่าสินค้าจะถึงดินแดนไต้หวันไม่เกินวันที่ 25 มีนาคม 2543 แต่เรือที่ใช้ขนส่งสินค้าเกิดขัดข้องกลางทางไม่สามารถเดินทางต่อได้ จึงขนส่งสินค้าพิพาทกลับและมีการสำรวจความเสียหายเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2543 หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 เจรจาเรื่องค่าเสียหายกันเรื่อยมาโดยมีหนังสือโต้ตอบกัน หนังสือของจำเลยที่ 1 ที่มีถึงโจทก์ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 ตามเอกสารหมาย จ. 7 มีเนื้อความว่า " ยินยอมให้ขยายเวลาออกไป 3 เดือน จนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2544" จากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าหนังสือของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ. 7 ทำขึ้นก่อนระยะเวลา 1 ปี นับแต่เวลาอันควรส่งมอบสินค้าพิพาทสิ้นสุดลง โดยทำขึ้นเพื่อให้มีผลบังคับผูกพันกันได้จริง ดังนั้น การตีความการแสดงเจตนานั้นตาม ป.พ.พ มาตรา 171 ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร จึงแปลเจตนาอันแท้จริงได้ว่าประสงค์จะให้มีผลเป็นหนังสือยินยอมว่าจะไม่ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2544 และความยินยอมนี้ใช้บังคับกันได้ตาม พ.ร.บ. รับขนของทางทะเล ฯ มาตรา 47 ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่ขาดอายุความ
ตามใบตราส่งระบุว่าสินค้าพิพาทที่ขนส่งเป็นทุเรียนสด จำนวน 1,260 กล่อง อันเป็นการระบุจำนวนและลักษณะของหน่วยการขนส่งที่รวมกันนั้นไว้ในใบตราส่ง ดังนี้ จึงต้องถือว่าสินค้าพิพาทที่ขนส่งมีจำนวนหน่วยการขนส่ง 1,260 หน่วย เมื่อคำนวณข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่งตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง เป็นเงิน 12,600,000 บาท สูงกว่าการคำนวณตามน้ำหนักสินค้า 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิ 1 กิโลกรัม โดยสินค้าพิพาทตามใบตราส่งมีน้ำหนักสุทธิ 13,860 กิโลกรัม คิดเป็นเงินเพียง 415,800 บาท ต้องถือจำนวนข้อจำกัดความรับผิดจำนวนที่สูงกว่า แต่เมื่อความเสียหายของโจทก์มีเพียง 263,755.56 บาท ต่ำกว่าจำนวนเงินที่พึงจำกัดความรับผิดได้ตามกฎหมาย จึงต้องถือเอาตามความเสียหายนั้นตามมาตรา 58 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 263,755.56 บาท พร้อมดอกเบี้ยในหนี้เงินนี้อัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันฟ้อง
8.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2549
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 ทำการขนส่งสินค้าที่บรรจุในตู้สินค้าทางเรือจากประเทศสิงโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพภายใต้เงื่อนไขแบบซีวาย/ซีวาย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าได้รับความเสียหายตั้งแต่ก่อนเปิดตู้สินค้าแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าตู้สินค้าดังกล่าวอยู่ในสภาพผิดปกติหรือมีรอยชำรุดเสียหายที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ทำการขนส่งด้วยความประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าถูกกระทบกระแทก จึงรับฟังได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเป็นผลจากเหตุอื่นที่มิใช่ความผิดหรือความประมาทเลินเล่อหรืออยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของสินค้านั้น ตาม พ.ร.บ. การรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 52 (13)
9.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1413/2549
แม้ตามใบกำกับสินค้าจะมีข้อความระบุราคาเป็นราคา FOB ก็ตาม แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของคู่สัญญาว่า ผู้ซื้อไม่ได้มีหน้าที่ว่าจ้างผู้ขนส่งให้นำเรือไปรับสินค้าจากผู้ขายหรือให้ผู้ขายช่วยว่าจ้างผู้ขนส่งแทน โดยผู้ซื้อออกค่าขนส่งเองตามเงื่อนไขของการซื้อขายแบบ FOB ดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อผู้ซื้อพบว่าสินค้าเสียหายและส่งสินค้าคืนแก่บริษัท บ. ตามที่ผู้ขายจะปฏิเสธไม่รับสินค้าตามสิทธิที่กระทำได้หากเป็นการซื้อขายภายใต้เงื่อนไข FOB ดังกล่าว ซึ่งความเสี่ยงภัยในการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าได้ตกอยู่แก่ผู้ซื้อแล้ว เนื่องจากมีการขนสินค้าข้ามพ้นกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางแล้ว แต่ผู้ขายก็ยอมรับสินค้าคืน ซึ่งส่อแสดงว่าคู่สัญญาดังกล่าวมิได้ถือปฏิบัติตามเงื่อนไข FOB เป็นเหตุให้เชื่อได้ว่าคู่สัญญาซื้อขายรายนี้ระบุข้อความคำว่า "FOB" เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับราคาสินค้าเพียงเพื่อใช้แสดงราคาเท่านั้น มิใช่มีข้อตกลงให้นำเรื่องหน้าที่และการโอนความเสี่ยงภัยตามเงื่อนไข FOB ของ INCOTERM มาใช้ด้วย ดังนั้น เมื่อสินค้าเสียหายผู้ขายจึงยังต้องรับผิด
เหตุแห่งความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นจากการที่น้ำทะเลท่วมเข้าไปถูกตู้สินค้าซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 จึงเป็นกรณีจำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่นต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าที่ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 39 วรรคหนึ่ง และแม้ความเสียหายของสินค้าจะเกิดขึ้นในระหว่างสินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยร่วมที่ 4 ผู้ขนส่งอื่น จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่งก็ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านั้นด้วย ตามมาตรา 43 และจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยที่มีต่อบุคคลอื่นในการขนส่งสินค้าของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย สำหรับจำเลยร่วมที่ 3 ผู้ขนส่งอื่นได้รับการมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า เมื่อเหตุแห่งความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงการขนส่งที่จำเลยร่วมที่ 3 ได้รับมอบหมายจำเลยร่วมที่สามจึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้านี้เช่นกัน
ค่าสำรวจความเสียหายถือได้ว่าเป็นผลจากความเสียหายของสินค้าที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดด้วย
กฎหมาย และ กฎเกณฑ์การขนส่ง
ฏีกาการค้าระหว่างประเทศ
- รายละเอียด
- ฮิต: 8194